ปูนถุง & คอนกรีต



ปูนหรือปูนซีเมนต์นั้นมีส่วนผสมหลักคือ หินปูน หินดินดาน ดินลูกรัง และทราย เรามักจะเห็นขายตามท้องตลาดทั่วไปในรูปของผงบรรจุในถุงหนักประมาณ 40-50 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้าง และปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อ ฉาบ เท และซ่อม นอกจากนี้หากใครเคยเห็นรถขนปูนที่มีลักษณะเหมือนสามเหลี่ยมคว่ำ รวมถึงถังไซโลสูงๆ สำหรับผสมคอนกรีตตามแพลนท์ปูนหรือตามไซต์งานก่อสร้าง นั่นก็บรรจุปูนซีเมนต์ผงสำหรับงานโครงสร้างเอาไว้เช่นกัน

สำหรับผงปูนซีเมนต์เปล่าๆ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผสมกับส่วนประกอบอื่นเพื่อใช้งานต่างๆ มีทั้งปูนซีเมนต์เทาและปูนซีเมนต์ขาว แต่เราอาจเคยพบเห็นช่างก่อสร้างใช้ผงปูนซีเมนต์สาดโปรยบนพื้นหรือผนังที่ต้องการทำพื้นผิวขัดมัน ในขั้นตอนสุดท้าย โดยจะใช้เกรียงเหล็กหรือเครื่องขัดปั่นพื้นผิวในเรียบเนียนและขึ้นลายตามการฉาบ

ผงปูนซีเมนต์ที่ผสมกับน้ำจะเรียกว่า “ซีเมนต์เพสต์ (Cement Paste)” ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาไฮเดรชั่น (Hydration Reaction) ในส่วนผสมของปูนมอร์ตาร์และคอนกรีต ทำหน้าที่ช่วยประสานมวลรวมต่างๆ ให้เกาะกันดีและให้กำลังแก่คอนกรีตเมื่อเซตตัว นอกจากนี้ในระหว่างการเทหล่อคอนกรีต อาจใช้ซีเมนต์เพสต์ช่วยหล่อลื่นตามความเหมาะสม

มาถึง “งานปูน” ที่เราเรียกกัน ซึ่งก็คือการนำผงปูนซีเมนต์มาผสมกับทรายและน้ำ ได้เป็น “ปูนมอร์ตาร์ (Mortar)” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ปูนทราย” ซึ่งใช้สำหรับงานก่ออิฐ ฉาบปูน เทปรับระดับพื้นก่อนติดตั้งวัสดุปิดผิว รวมถึงงานหล่อปูนในแบบหล่อที่ไม่ได้รับน้ำหนัก เช่น แผ่นซีเมนต์ตกแต่งผนังรูปนูนต่ำ ตุ๊กตาปูนปั้นต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ปูนมอร์ตาร์ที่มีจำหน่ายกันในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือปูนซีเมนต์อย่างเดียว (ปูนซีเมนต์ผสม) ที่ช่างต้องผสมทรายและน้ำเองตามสัดส่วนที่เหมาะสมในแต่ละประเภทงาน แบบที่สองคือปูนซีเมนต์สำเร็จรูปที่ผสมทรายมาให้แล้ว เวลาใช้งานก็ผสมน้ำตามสัดส่วนเพื่อใช้งานได้ทันที โดยปูนซีเมนต์สำเร็จรูปจะมีสูตรการผสมตามแต่ละผู้ผลิต เพื่อให้เหมาะกับงานแต่ละประเภทตามที่ระบุไว้ เช่น ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปสำหรับงานก่อ/ฉาบอิฐมวลเบา ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปสำหรับเทปรับระดับพื้น ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปซ่อมอเนกประสงค์ ไปจนถึงปูนฉาบตกแต่งผิวบางสี (Color Skim Coat) และปูนฉาบตกแต่งผิวสี (Color Render) ซึ่งใช้ปูนซีเมนต์ขาวเป็นวัตถุดิบหลักด้วย เป็นต้น

สุดท้าย หากนำผงปูนซีเมนต์มาผสมกับทราย หิน และน้ำจะได้เป็น “คอนกรีต (Concrete)” ซึ่งใช้ในงานหล่อโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งแต่งานหล่อเสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น ฯลฯ ทั้งในรูปแบบหล่อสดหน้างาน และชิ้นงานสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานเพื่อนำมาประกอบที่หน้างาน (Precast Concrete) เช่น แผ่นพื้น/ผนังสำเร็จรูป รางรถไฟฟ้า ชิ้นส่วนสะพาน เป็นต้น โดยคอนกรีตจะมีหลายประเภทตามการใช้งานไม่ว่าจะเป็น คอนกรีตแข็งตัวเร็ว คอนกรีตพรุน (Porous Concrete) คอนกรีตงานใต้น้ำ คอนกรีตทนกรด คอนกรีตกันซึม ฯลฯ ซึ่งสามารถสั่งผลิตตามกำลังอัด (Strength) ที่วิศวกรออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับงานแต่ละประเภทได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีปูนซีเมนต์พิเศษต่างๆ ที่ใช้สำหรับงานเฉพาะเจาะจง เช่น ปูนไม่หดตัว (Non-Shrink Grout) สำหรับงานซ่อมโครงสร้างคอนกรีต, ซีเมนต์ฉาบ/ทากันซึม, กาวซีเมนต์ และกาวยาแนวสำหรับงานปูกระเบื้องหรือปูหินต่างๆ, Water Plug สำหรับงานอุดซ่อมคอนกรีตบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะมีปูนซีเมนต์เป็นส่วนประกอบหลักแล้ว ผู้ผลิตแต่ละรายจะผสมส่วนประกอบและสารประกอบอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติที่เฉพาะจงสำหรับแต่ละงานตามที่ได้ยกตัวอย่างมา

ไม่ว่าจะเป็นงานปูนหรืองานคอนกรีตในรูปแบบใด สิ่งสำคัญคือส่วนผสมที่ดี ไปจนถึงขั้นตอนต่างๆ ก่อนการเซตตัวหรือจุดที่แข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละประเภท ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ผลิตอีกเช่นกัน ดังนั้นสำหรับเจ้าของบ้านที่จำเป็นต้องเลือกใช้ปูนซีเมนต์หรือคอนกรีตด้วยตัวเอง จึงควรศึกษาประเภทของวัสดุนั้นๆ รวมถึงขั้นตอนการผสมและวิธีใช้งานอย่างรอบคอบ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มเติม เพื่อให้ได้บ้านที่แข็งแรง ทนทานยาวนานตลอดอายุการใช้งาน